ทั้ง Flap Valve และ Sluice Gate ถูกนำมาใช้ในงานป้องกันน้ำท่วมเหมือนกัน แต่อุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้ก็มีความต่างกันไม่น้อย และมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกัน โดยบทความนี้จะอธิบายความแตกต่างในการใช้และอธิบายถึงข้อดีข้อเสียของอุปกรณ์ทั้ง 2 อย่างนี้รวมถึงได้สรุปในตอนท้ายว่าควรตัดสินใจเลือกใช้อย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับวาล์วทั้ง 2 แบบก่อน
- Flap Valve เป็นวาล์วชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมการไหลของของเหลวทางเดียวใช้ทั้งในระบบระบายน้ำทั้งน้ำดีและน้ำเสีย หลักการทำงานของ Flap Valve คือ เมื่อมีแรงดันจากของเหลวจากด้านใน วาล์วจะเปิดโดยอัตโนมัติเพื่อให้ของเหลวไหลผ่านได้อย่างอิสระ แต่เมื่อแรงดันลดลงหรือมีการไหลย้อนกลับ วาล์วจะปิดเองเพื่อป้องกันการไหลกลับของของเหลว วาล์วประเภทนี้มักจะติดตั้งในปลายท่อหรือจุดที่ต้องการป้องกันการไหลย้อนกลับ เช่น บริเวณทางระบายน้ำหรือทางออกของท่อระบายน้ำเสีย วัสดุที่ใช้ในการผลิต Flap Valve มักเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง เช่น เหล็กหล่อหรือสแตนเลส เพื่อให้ทนทานต่อสภาพการใช้งานที่หลากหลายและยืดอายุการใช้งานของวาล์วในระยะยาว
- Sluice Gate เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการไหลของน้ำในช่องทางน้ำต่างๆ เช่น คลอง, ท่อท่อระบายน้ำหรือท่อส่งน้ำ หรือเขื่อน โดยสามารถควบคุมการเปิด-ปิดด้วยชุดยกเพื่อปรับปริมาณการไหลของน้ำตามต้องการ มักใช้ในงานชลประทานและการจัดการน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำและป้องกันน้ำท่วม ตัวประตูมักทำจากวัสดุที่ทนทาน เช่น เหล็กหล่อหรือสแตนเลส เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อนและสภาพแวดล้อมที่ชื้นตลอดเวลา มาตรฐานที่ใช้โดยทั่วไปในระดับสากลคือ AWWA C 560 และ AWWA C561
เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง Flap Valve และ Sluice Gate สามารถพิจารณาได้จากหลายปัจจัย โดยมีข้อดีและข้อเสียดังนี้ :
ข้อดี:
- การทำงานอัตโนมัติ: Flap Valve เปิด-ปิดโดยอัตโนมัติขึ้นอยู่กับแรงดันของของเหลว ไม่ต้องไปหมุนเปิดปิด เหมาะกับบริเวณที่น้ำขึ้น-ลงตลอดเวลา
- ติดตั้งง่าย: การออกแบบที่เรียบง่ายและขนาดกะทัดรัดทำให้ติดตั้งง่าย
- ราคาถูกและค่าบำรุงรักษาต่ำ: ราคาถูกเมื่อเทียบกับ Sluice Gate เนื่องจากไม่มีส่วนที่เคลื่อนไหวมากนัก การบำรุงรักษาจึงไม่ซับซ้อนและใช้ต้นทุนน้อย
ข้อเสีย:
- ควบคุมการไหลไม่ได้: Flap Valve ออกแบบมาเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับ ไม่สามารถควบคุมปริมาณการไหลของของเหลวได้ ถ้าน้ำด้านในต่ำจนไม่มีแรงดันเป็นเวลานานจะทำให้น้ำขังและเน่าเสียได้
- ติดตั้งได้รูปแบบเดียว: สามารถติดตั้งได้แต่แบบ On seating ทำให้ต้องติดตั้งที่ปลายท่อหรือปลายทางได้อย่างเดียว
ข้อดี:
- ควบคุมการไหลได้: Sluice Gate สามารถเปิด-ปิดได้ตามระดับที่ต้องการ ทำให้ควบคุมปริมาณการไหลของน้ำได้ ไม่เกิดน้ำขังและเน่าเสีย
- รองรับการไหลปริมาณมาก: เหมาะสำหรับการใช้งานในระบบที่ต้องการควบคุมการไหลของน้ำในปริมาณมาก เช่น ในเขื่อนหรือระบบชลประทาน
- ทนทานและใช้งานได้ยาวนาน: Sluice Gate มักทำจากวัสดุที่แข็งแรงและทนทานต่อการกัดกร่อน ทำให้มีอายุการใช้งานยาวนาน
- ติดตั้งได้หลายรูปแบบ: Sluice Gate จะสามารถติดตั้งได้ 2 แบบ ทั้งแบบ on Seating และ Off seating ทำให้สามารถป้องกันน้ำท่วมโดยการติดตั้งภายในพื้นที่ของเราได้
ข้อเสีย:
- ราคาสูง: ราคาจะสูงกว่า Flap Gate และจะยิ่งแตกต่างมากยิ่งขึ้นเมื่อขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
- ต้องการการควบคุมด้วยมือหรือกลไก: การเปิด-ปิดต้องใช้การควบคุมด้วยมือหรือระบบกลไกเสริม ทำให้การใช้งานในบางกรณีไม่สะดวกเท่าที่ควร เช่นกรณีที่น้ำขึ้น-ลงบ่อยๆ ทำให้ต้องหมุนเปิดปิดบ่อยๆ
สรุป
Flap Valve เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการป้องกันการไหลย้อนกลับและติดตั้งง่ายโดยมีค่าใช้จ่ายต่ำ ไม่ต้องเปิด-ปิดเองเหมาะกับกรณีที่ต้องเปิด-ปิดบ่อย แต่ต้องติดที่ปลายท่อเท่านั้น ในขณะที่ Sluice Gate เหมาะกับงานที่ต้องการควบคุมการไหลของน้ำไม่เกิดน้ำขังและเน่าเสีย แต่มีราคาสูงมากกว่า แต่สามารถติดตั้งทั้งด้านในและด้านนอกเพราะสามารถรับน้ำได้ 2 ทาง